|
นาโนเทคโนโลยีจากงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการสู่ผลิตภัณฑ์จริงในเชิงพาณิชย์ (Nano Technology from Laboratory Research to Commercial Products)
ในปัจจุบัน นาโนเทคโนโลยี ถือ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสนใจที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ อย่างมาก ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนาโน ทำให้เทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างมากในหลากหลายอุตสาหกรรมในปัจจุบัน อาทิเช่น เกษตรกรรม อาหาร เครื่องสำอาง ยา สุขภาพ ยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นต้น (Anselmo and Mitragotri, 2019; Malik et al., 2023; Rickerby and Morrison, 2007) นาโนเทคโนโลยีนั้นจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบ (Design) การสร้าง (Fabrication) และการใช้งาน (Application) วัสดุต่างๆ ซึ่งมีขนาดอยู่ในช่วงระดับนาโนเมตร ซึ่งโดยปกติเป็นที่ยอมรับกันว่าอยู่ในช่วง 1 ถึง 100 นาโนเมตร และในบางกรณีจะสามารถขยายไปได้ถึงประมาณไม่เกิน 1000 นาโนเมตร และที่สำคัญสมบัติของวัสดุนาโน (Nanomaterials) นั้นจะแตกต่างจากวัสดุดั้งเดิมทั่วไป (Conventional materials) เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า มีความจำเพาะของลักษณะพื้นผิวสูงกว่า และบางกรณีนั้นวัสดุนาโนจะถูกปรับปรุงพื้นผิวให้มีสมบัติเฉพาะ เพื่อให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะแก่การใช้งานในแบบจำเพาะเจาะจงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย (McClements, 2020; Nile et al., 2020)
โดยการลงทุนทั่วโลกในระดับหลักพันล้านดอลล่าร์สหรัฐที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีน มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Malik et al., 2023) โดยตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2020 นั้น มีการประเมินไว้ว่ามีอัตราการเติบโตด้านรายได้ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่านับจากปี 2020 ไปถึงปี 2030 (Roco, 2017) ท่ามกลางแนวโน้มที่เติบโตเหล่านี้ของการลงทุนและรายได้จากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ก็รวมถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง รวมถึงการเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทาง บริษัท อยู่ นาน นาน จำกัด ให้ความสำคัญอย่างมาก และแน่นอนว่าการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่สมบูรณ์โดยมีการเชื่อมต่อตั้งแต่ การวิจัย และ พัฒนาวัสดุและอนุภาคนาโนในระดับห้องปฏิบัติการ (Research in laboratory) ไปสู่ การผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรมจนเป็นผลิตภัณฑ์จริงในท้องตลาด (Commercialization) นั้นต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล ดังนั้นการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราเอง จึงยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความผันผวน และไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนอย่างหนักหน่วง หรือแม้แต่การเปลี่ยนผ่าน และส่งต่อเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาในห้องปฏิบัติการที่มีความซับซ้อนไปสู่การผลิตจริงระดับอุตสาหกรรมนั้นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Malik et al., 2023) แต่สำหรับประเทศไทยเราแล้ว ก็มีข้อได้เปรียบในแง่ของความหลากหลายของทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพแบบดั้งเดิม ซึ่งถ้าได้นำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการแปรรูปวัตถุดิบเหล่านี้ และ สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงออกสู่ท้องตลาดได้ จะช่วยเพิ่มมูลค่า และ สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้ในระยะยาว
ดังนั้น บริษัท อยู่ นาน นาน จำกัด จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญว่านาโนเทคโนโลยีจะเป็นก้าวต่อไปของยุคเทคโนโลยีในการช่วยยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพต่างๆ ทั้งอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ที่มีแหล่งที่มาจากสมุนไพรไทย ดังนั้น ทีมวิจัยของบริษัท อยู่ นาน นาน จำกัด จึงมุ่งมั่นที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยมีทั้งการแปรรูปจากวัตถุดิบจากสมุนไพรไทยให้ถูกกักเก็บอยู่ในอนุภาคนาโนซึ่งถือว่าเป็นวัตถุดิบนาโนที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในอนาคต และนอกจากนี้ทางทีมวิจัยของเรา ยังสามารถที่จะนำวัตถุดิบนาโนเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหาร และอาหารเสริมต่างๆ ในรูปแบบพร้อมจำหน่าย และมีมาตรฐานการผลิตที่เชื่อถือได้อีกด้วย
เรียบเรียงโดย ทีมวิจัย บริษัท อยู่ นาน นาน จำกัด
เอกสารอ้างอิง - Anselmo, A.C., Mitragotri, S., 2019. Nanoparticles in the clinic: An update. Bioeng. Transl. Med. 4, e10143. - Malik, S., Muhammad, K., Waheed, Y., 2023. Nanotechnology: A Revolution in Modern Industry. Molecules. - McClements, D.J., 2020. Nanotechnology Approaches for Improving the Healthiness and Sustainability of the Modern Food Supply. ACS Omega 5, 29623–29630. - Nile, S.H., Baskar, V., Selvaraj, D., Nile, A., Xiao, J., Kai, G., 2020. Nanotechnologies in Food Science: Applications, Recent Trends, and Future Perspectives. Nano-Micro Lett. 12, 45. - Rickerby, D.G., Morrison, M., 2007. Nanotechnology and the environment: A European perspective. Sci. Technol. Adv. Mater. 8, 19–24. - Roco, M.C., 2017. Overview, in: Nanotechnology Commercialization. pp. 1–23.
|
|