การเตรียมอนุภาคนาโนเพื่อห่อหุ้ม และนำส่งสารสำคัญสำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคนิคการปั่นผสมต่างๆ
การเตรียมอนุภาคนาโนเพื่อห่อหุ้มและนำส่งสารสำคัญสำหรับประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วยเทคนิคการปั่นผสมต่างๆ (Homogenization techniques for nanoencapsulation and nanodelivery in food industry)
มีอยู่หลายหลายวิธี เช่น 1) เทคนิคการปั่นผสมด้วยแรงเฉือนสูง (high-shear homogenization) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้งานง่าย สามารถใช้ได้กับทั้งกระบวนการเตรียมใช้อุณหภูมิต่ำ (cold homogenization) หรืออุณหภูมิสูง (hot homogenization) ก็ได้ โดยอาศัยแรงเฉือนจากใบพัดความเร็วรอบสูงในการลดขนาดอนุภาคจนอยู่ในระดับไมโครหรือถึงระดับนาโนสำหรับการเตรียมอนุภาคนาโนในบางรูปแบบได้ (Molina et al., 2019; Nahum and Domb, 2021; Rocha et al., 2020) 2) เทคนิคการปั่นผสมด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic homogenization) เป็นเทคนิคที่อาศัยคลื่นความถี่สูงเกินกว่าที่หูมนุษย์จะได้ยินมาช่วยในการลดขนาดอนุภาคนาโนจนมีขนาดเล็กถึงในช่วงระดับนาโนเมตร แต่อย่างไรก็ตาม อนุภาคนาโนที่ผ่านการเตรียมด้วยวิธีนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางอย่างได้ จากผลกระทบที่เกิดจากคลื่นความถี่สูง แรงเฉือน อุณหภูมิ และความดัน เป็นต้น (Rashidi, 2021; Shanmugam and Ashokkumar, 2017; Tahir et al., 2021) 3) เทคนิคการปั่นผสมด้วยความดันสูง (high-pressure homogenization) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เป็นที่นิยมใช้มากในการเตรียมอนุภาคนาโนในหลากหลายรูปแบบ โดยอาศัยแรงเฉือนที่สูงโดยความดันสูงประมาณ 100-2,000 bar จะได้ผลลัพธ์เป็นอนุภาคที่อยู่ในช่วงระดับนาโน (Rashidi, 2021; Yu et al., 2018) และเทคนิคนี้ยังเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างกับทั้งกระบวนการเตรียมที่อุณหภูมิต่ำ และ สูงเช่นเดียวกับเทคนิคการปั่นผสมด้วยแรงเฉือนสูงอีกด้วย โดยอนุภาคนาโนที่เตรียมได้จากเทคนิคเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์และทดสอบหาคุณสมบัติต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งผู้ที่สนใจเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากบทความ “การพิสูจน์สมบัติต่างๆ ของอนุภาคนาโน (Nanoparticle) ทำอย่างไร”) และในแง่ของการที่ทั้งสองเทคนิคนี้ สามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง จึงเป็นเทคนิคที่มีศักยภาพในการประยุกต์เพื่อใช้งานในการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม (large-scale production) ได้อีกด้วย (Nahum and Domb, 2021)
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนา และวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการกับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจริง ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกันที่ส่งผลถึงคุณภาพ และประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนที่เตรียมได้ ซึ่งในการผลิตใช้งานจริงนั้น อนุภาคนาโนที่เตรียมได้ไม่ว่าจะมาจากการผลิตระดับไหนจะต้องมีคุณภาพสูงไม่แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยเวลาและงบประมาณในการศึกษาวิจัย พัฒนา และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ ดังที่ทีมวิจัยของบริษัท อยู่ นาน นาน จำกัด ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการผลิตต่างๆ ของบริษัทเรามีมาตรฐานสูง เชื่อถือได้ และผู้บริโภคจะมั่นใจได้ว่าทางบริษัทของเราได้ส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ดี และมีคุณภาพถึงมือในทุกล็อตการผลิตไปตลอดอีกด้วย - Rashidi, L., 2021. Different nano-delivery systems for delivery of nutraceuticals. Food Biosci. 43, 101258. |